สุภาษิตพระร่วงเกิดจากการรวบรวมคำสอนหรือสุภาษิตเก่าเข้าไว้ด้วยกัน ร้อยเรียงให้สัมผัสคล้องจองกัน โดยไม่มีการแบ่งเป็นหมวดหมู่ จึงเป็นคำสอนที่คละกันและมีหัวข้อคำสอนซ้ำกันหรือใกล้เคียงกัน กระจัดกระจายตามแต่ละส่วนของคำประพันธ์
เนื้อหาคำสอนอาจแบ่งได้ดังนี้
๑. สอนให้เห็นความสำคัญของความรู้
เช่น “เป็นคนเรียนความรู้” “เมื่อน้อยให้เรียนวิชา ให้หาสินเมื่อใหญ่”
๒. ให้ทำตามประเพณี
เช่น “ประพฤติตามบูรพระบอบ” คือควรทำทุกอย่างตามประเพณีที่เคยถือปฏิบัติกันมาแต่อดีต
๓. ให้เห็นความสำคัญของญาติพี่น้อง
เช่น “อย่ารักห่างกว่าชิด” มีความหมายว่า ให้เห็นความสำคัญของญาติพี่น้องกัน มากกว่าคนที่ไม่ใช่ญาติพี่น้อง
“ทดแทนคุณท่านเมื่อยาก” คือ ให้เป็นคนกตัญญูรู้คุณ
๔. ให้ทำสิ่งที่เหมาะแก่กาลเทศะ
เช่น “ยอครูยอต่อหน้า ยอข้าเมื่อแล้วกิจ ยอมิตรเมื่อลับหลัง
ลูกเมียยังอย่าสรรเสริญ เยียวสะเทินจะอดสู”
หมายความว่า การจะชมใครก็ให้เหมาะสมแก่โอกาส คือ กล่าวชมครูเมื่ออยู่ต่อหน้า ควรชมบ่าวไพร่เมื่อทำงานแล้วเสร็จ ควรชมเพื่อนลับหลัง และไม่ควรชมลูกเมียที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะหากไม่ดีก็จะตลอดจะขายหน้าได้
๕. ให้มองการณ์ไกล
เช่น “อย่ายลเหตุแต่ใกล้” หมายความว่า อย่ามองแต่เรื่องเฉพาะหน้าเท่านั้น
“อย่ายลเยี่ยงถ้วยแตกมิมิด จงยลเยี่ยงสัมฤทธิ์แตกมิเสีย” หมายความว่า อย่าทะเลากับใครจนถึงแตกหัก เพราะจะสนิทกันเหมือนเดิมได้ยาก เหมือนถ้วยกระเบื้องเมื่อแตกแล้วไม่สามารถต่อเหมือนเดิมได้ ควรผูกมิตรให้เหมือนสัมฤทธิ์ที่แตกแล้วยังเชื่อมต่อกันได้
๖. ให้ระมัดระวังตน อย่าหาเรื่องใส่ตัวหรืออย่าประมาท
เช่น “เดินทางอย่าเปลี่ยว” หมายความว่า ไม่ควรเดินตามลำพัง ควรมีเพื่อนไปด้วย หากเกิดอันตรายจะได้มีคนช่วย
“ที่สุ้มเสือจงประหยัด” หมายความว่า ต้องระวังตัวให้ดี หากต้องเข้าไปในบริเวณที่มีสัตว์ร้าย
๗. ให้มีใจหนักแน่น ไม่เชื่อข่าวลือ
เช่น “ระบิลระบืออย่าฟังคำ”
๘. อย่าเสียอารมณ์เป็นประจำ
เช่น “อย่ากริ้วโกรธเนืองนิตย์”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น